แถลงการณ์ คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
แถลงการณ์
คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
กรณีหนังสือ M TODAY และ เว๊ปไซต์ WWW.MUSLIMMTODAY เสนอข่าวบิดเบือนคำพิพากษาศาลฎีกา
จากกรณีที่หนังสือ M TODAY ฉบับที่ 45 ปีที่ 4 ประจำเดือนกันยายน 2558 หน้า 30-31 และ เว็บไซท์ www.muslimtoday.in.th ได้เสนอข่าวในทำนองเดียวกัน พาดหัวข่าวว่า “ศาลฎีกาเปรี้ยง! กอจ.กทม.ขาดคุณสมบัติ จับตา! พ้นจากตำแหน่งหรือไม่” และพิมพ์โฆษณาหัวข้อข่าวว่า “เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา สั่งกรรมการอิสลามกรุงเทพฯ ชุด อ.อรุณ บุญชม สมัย เจริญช่าง ขาดคุณสมบัติ ขาดความรู้ความเข้าใจหลักศาสนาอิสลาม จับตา ! ต้องพ้นจากตำแหน่งปัจจุบันหรือไม่” โดยได้นำคำพิพากษาศาลฎีกาบางช่วงบางตอนพิมพ์เผยแพร่ และได้ลงตีพิมพ์โฆษณาข้อความตอนท้ายว่า “จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ถือว่าเป็นที่สุด ระบุว่า กอจ.กทม.ชุดที่แล้วขาดคุณสมบัติตามกฎหมายการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ปี 2540 ต้องพ้นตำแหน่งในขณะนั้น ซึ่งมีหลายคนได้กลับเข้ามาเป็น กอจ.
กรุงเทพฯในวาระปัจจุบัน จะถือว่าการขาดคุณสมบัติจะส่งผลต่อเนื่องถึงการดำรงตำแหน่งในปัจจุบันหรือไม่ หากส่งผลต่อตำแหน่งก็เท่ากับกรรมการอิสลามกรุงเทพฯส่วนใหญ่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ต้องมีการเลือกตั้งใหม่”
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร จึงขอแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อความเข้าใจมายังพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ ดังนี้
- การตีพิมพ์โฆษณาของหนังสือ M TODAY และ เว็บไซท์ WWW.MUSLIMMTODAY ดังกล่าว โดยเฉพาะข้อความตอนท้ายที่ตีพิมพ์ว่า “จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ถือว่าเป็นที่สุด ระบุว่า กอจ.กทม.ชุดที่แล้วขาดคุณสมบัติตามกฎหมายการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ปี 2540 ต้องพ้นตำแหน่งในขณะนั้น ซึ่งมีหลายคนได้กลับเข้ามาเป็น กอจ.กรุงเทพฯในวาระปัจจุบัน จะถือว่าการขาดคุณสมบัติจะส่งผลต่อเนื่องถึงการดำรงตำแหน่งในปัจจุบันหรือไม่ หากส่งผลต่อตำแหน่งก็เท่ากับกรรมการอิสลามกรุงเทพฯส่วนใหญ่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ต้องมีการเลือกตั้งใหม่” นั้น เชื่อว่า M TODAY ต้องมีคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็มถึงสามารถตีพิมพ์โดยอ้างคำพิพากษาฎีกา แต่ไม่ได้นำสำนวนถ้อยคำของคำพิพากษาฎีกาทั้งหมดมาตีพิมพ์ และที่สำคัญก็คือในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวได้ปรากฎชัดเจนว่าไม่มีถ้อยคำใดที่พิพากษาว่า กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย ตามที่หนังสือ M TODAY และ เว็บไซต์ WWW.MUSLIMMTODAY เสนอข่าวแต่อย่างใด เพราะคดีดังกล่าว เป็นคดีที่กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร จำนวน 26 คน เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามคนที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหากรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นโดย ในหนังสือร้องเรียนของจำเลยทั้งสามใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะหมิ่นประมาทกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครที่เป็น โจทก์ 26 คนในคดีนี้ ตามเนื้อหาตอนต้นของการเสนอข่าวของหนังสือ M TODAY และ เว็บไซท์ WWW.MUSLIMMTODAY คดีดังกล่าวนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งยี่สิบหก คนละ 150,000.- บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง(คือไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์)ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การกระทำของจำเลยทั้งสาม ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบหก” ศาลฎีกาจึงได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์(ให้ยกฟ้องคือไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์) ดังนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่าการเสนอข่าวของหนังสือ M TODAY และ เว็บไซท์ WWW.MUSLIMMTODAY ไม่ตรงกับคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นการจงใจบิดเบือนถ้อยคำสำนวนคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อให้พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศเข้าใจและเชื่อตามที่ M TODAY และ เว็บไซท์ WWW.MUSLIMMTODAY ที่ได้ตีพิมพ์นำเสนอเป็นข่าว ไม่ใช่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยธรรม แต่เป็นการนำเสนออันมีลักษณะจงใจทำให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหาย ผู้รับผิดชอบหนังสือ M TODAY คงจะขาดการตรวจสอบ ขาดความรอบครอบ และขาดการรักษาจรรยาบรรณของผู้มีวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะต้องตรวจสอบความจริงของข่าวก่อนการนำเสนอ มิใช่นำเสนอข่าวที่มีลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสังคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด
- (สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร) ขอชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร มีมติที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งมัสยิดอิบาดิรเราะห์มาน เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 คณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ขอจัดตั้งมัสยิดได้ยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และมัสยิดอิบาดิรเราะห์มาน ได้ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 120239 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นที่ดินที่พี่น้องมุสลิมจำนวนร้อยกว่าคนซื้อวากั๊ฟให้โรงเรียนมะเซาะห์ฮะตุดดีน 1 ในราคาตารางวาละ 100.- บาท บางคนซื้อวากั๊ฟหนึ่งวา บางคนซื้อวากั๊ฟสองวา บางคนซื้อวากั๊ฟหลายวาโดยมิได้มีผู้วากั๊ฟคนใดแจ้งเจตนาในการทำวากั๊ฟว่าห้ามสร้างมัสยิดหรือสิ่งใดๆในที่ดินซึ่งวากั๊ฟ และมัสยิดแห่งนี้ได้มีการปฏิบัติศาสนกิจมาโดยตลอด มีมุสลิมประสงค์สมัครเข้าเป็นสัปปุรุษมัสยิดอิบาดิรเราะห์มาน จำนวน 62 ครอบครัว รวม 239 คน คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เห็นว่า ได้ทำตามเจตนารมณ์ของผู้วากัฟแล้ว กล่าวคือ ได้สร้างโรงเรียนสอนศาสนามะเซาะฮะตุดดีน 1 แล้ว และผู้วากัฟไม่ได้ห้ามสร้างมัสยิดในที่ดินที่วากั๊ฟนี้ การสร้างมัสยิดนี้ได้กระทำในพื้นที่ที่เหลือจากการสร้างโรงเรียนสอนศาสนา เป็นการกระทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้วากัฟ และผู้มาปฏิบัติศาสนากิจ และเกิดประโยชน์ในทางสังคมอีกด้วย กรอปกับการมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งมัสยิด
อิบาดิรเราะห์มานเป็นการวินิจฉัยตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม ตำราทางศาสนาอิสลาม และสอดคล้องกับคำวินิจฉัยทางศาสนาของนักวิชาการ และผู้มีความรู้ทางด้านศาสนาอิสลามจากต่างประเทศที่มีข้อเท็จจริง และประเด็นทางศาสนาเช่นเดียวกันกับการสร้างมัสยิดอิบาดิรเราะห์มาน ซึ่งมีความเห็นเช่นเดียวกันกับมติของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ถ้าที่ดินที่วากั๊ฟให้แก่โรงเรียนสอนศาสนานั้น เมื่อสร้างโรงเรียนแล้วและยังมีที่ดินเหลืออยู่นั้น ถ้าสร้างมัสยิดในดินที่เหลือจากสร้างโรงเรียนไม่ได้ในทางกลับกันในกรณีที่มีผู้วากั๊ฟที่ดินให้แก่มัสยิดเมื่อได้สร้างมัสยิดแล้วและยังมีที่ดินเหลืออยู่จะสร้างโรงเรียนสอนศาสนาในที่ดินที่เหลือจากการสร้างมัสยิดได้หรือไม่ ดังนั้น ถ้าสร้างมัสยิดในที่ดินที่วากั๊ฟให้แก่โรงเรียนสอนศาสนาไม่ได้เพราะผิดหลักการศาสนาตามที่มีการตีความของบางคนเช่นนี้ กรณีที่มีการสร้างโรงเรียนสอนศาสนาในที่ดินที่วากั๊ฟให้แก่มัสยิดและยังมีที่ดินเหลืออยู่ก็คงจะผิดหลักการศาสนาเช่นเดียวกันถ้าตีความเช่นนี้แล้วมัสยิดในประเทศไทยเป็นจำนวนมากได้มีการสร้างโรงเรียนในที่ดินที่ได้วากั๊ฟให้แก่มัสยิดถึงประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นของมัสยิดทั้งหมดในประเทศไทยก็ต้องผิดหลักการศาสนาทั้งหมด และเมื่อคณะกรรมอิสลามประจำกรุงเทพมหานครมีมติให้ความเห็นชอบให้จัดตั้งมัสยิดอิบาดิ้รเราะห์มานแล้ว ได้มีกรรมการบางคนยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร 26 คน ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ศาลจังหวัดมีนบุรี ได้พิจารณาแล้วพิพากษาว่า การประชุมและการมีมติของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ที่มีมติให้จัดตั้งมัสยิดอิบาดิรเราะห์มาน ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในคดีดังกล่าวยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายื่นตามศาลจังหวัดมีนบุรี และโจทก์ไม่ฎีกา คดีนี้จึงเป็นคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น หากกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร จำนวน 26 คน ดังกล่าวจะต้องถูกพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติควรที่จะเป็นคำพิพากษาคดีดังกล่าวนี้แล้ว ไม่ใช่คดีที่หนังสือ M TODAY ได้เสนอข่าวแต่อย่างใด แต่เนื่องจากคดีข้างต้นสำนักงาน และกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยจำนวน 27 คน เป็นฝ่ายชนะคดีทั้งสองศาล หนังสือ M TODAY และ เว็บไซท์ WWW.MUSLIMMTODAYจึงไม่เคยนำเสนอเป็นข่าวแต่อย่างใด
- ส่วนกรณีคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ที่ 01/2550 ของคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และเอกสารอื่นๆ ที่มีการกล่าวอ้างในคำพิพากษาศาลฎีกา และหนังสือ M TODAY ตีพิมพ์และเสนอในเว็บไซท์ และเป็นข้อที่จำเลยทั้งสามยกขึ้นกล่าวอ้างว่า โจทก์ทั้งยี่สิบหกซึ่งเป็นกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กระทำผิดต่อหลักการของศาสนาอิสลาม เป็นผู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด จะต้องตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร นั้น หากพี่น้องมุสลิมตรวจสอบเอกสารคำวินิจฉัยทางศาสนาดังกล่าว และเอกสารอื่นๆ ซึ่งมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นจัดทำขึ้นล้วนแต่เป็นการจัดทำโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ทั้งสิ้น
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ขอเรียนว่า พี่น้องมุสลิมท่านใดสนใจรายละเอียดและข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว สามารถขอรับได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
วันที่ 30 ตุลาคม 2558