เผยข้อสรุปสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ใน รธน. ที่จะลงประชามติ ๗ ส.ค. ๕๙
เนื่องจากเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ใน รธน. ที่จะลงประชามติในวันที่ ๗ ส.ค. ๕๙ มีจำนวน 26 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 24 ถึงมาตรา 49 จึงขอนำข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาเสนอ ดังนี้
- บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย การนับถือศาสนาความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ครอบครัว เคหสถาน การแสดงความคิดเห็นโดยวิธีการต่าง ๆ การติดต่อสื่อสารถึงกัน เสรีภาพในทางวิชาการ การเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ การประกอบอาชีพ การมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก การเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ การร้องทุกข์ การฟ้องหน่วยงานของรัฐ การรวมตัวกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมชน สมาคม สหกรณ์ สหภาพ สหพันธ์ ฯลฯ การอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการจัดตั้งพรรคการเมือง
- บุคคลผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้เป็นมารดาย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐทั้งก่อนและหลังการคลอดบุตร ผู้มีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพและบุคคลผู้ยากไร้ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ
- บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
- ทั้งบุคคลและชุมชนมีสิทธิอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลป วัฒนธรรม รวมทั้ง อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมีสิทธิจัดระบบสวัสดิการชุมชน มีสิทธิเสนอความเห็นให้หน่วยงานของรัฐกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน รวมทั้งมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐ
- บุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และองค์กรเหล่านี้สามารถรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรใหญ่เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองผู้บริโภคได้
- นอกจากสิทธิและเสรีภาพข้างต้นแล้ว การใดที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมิได้ห้ามหรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพไว้ บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้น ๆ ได้อย่างเสรี และถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
- สำหรับสิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ถึงแม้จะยังมิได้มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ รัฐธรรมนูญนี้ก็รับรองว่า บุคคลหรือชุมชนสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ทันทีตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
- อย่างไรก็ดี เพื่อให้การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลและชุมชนต้องเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ สังคม และบุคคลอื่นไม่ใช้สิทธิและเสรีภาพกันอย่างเกินเลยเหมือนเช่นหลายปีที่ผ่านมาจนทำให้บ้านเมืองเสียหาย ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิและเสรีภาพไว้ชัดเจนว่า บุคคลและชุมชนต้องไม่ใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเกินขอบเขต กล่าวคือการใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้น ต้อง …
- ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
- ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชน และ
- ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
- เมื่อใดก็ตามที่มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินขอบเขต ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการนั้นสามารถใช้สิทธิทางศาลผ่าน“ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง” เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของตนที่ถูกล่วงละเมิด รวมทั้งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ หรือจะฟ้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยตรงเพื่อให้วินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ สำหรับบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐ
- นอกจากนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการตรากฎหมายแบบไม่มีเหตุมีผลหรือเพื่อพวกพ้อง หรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงได้วางหลักในการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติไว้ชัดเจนว่า กฎหมายที่จะตราขึ้นนั้น ต้อง …
(1) เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
(2) ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ กฎหมายนั้นต้อง
2.1 ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม
2.2 ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
2.3 ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล
2.4 ระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย และ
2.5 มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป
- ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบว่า การตรากฎหมายเป็นไปตามหลักทั้ง 5 ประการข้างต้น หรือที่เรียกกันว่า “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย” หรือไม่ ทั้งร่างกฎหมายที่ยังไม่มีผลใช้บังคับ และกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว
- ถ้าเป็นร่างกฎหมาย – ส.ส. ส.ว. หรือนายกรัฐมนตรี สามารถร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยได้
- ถ้าเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว – ประชาชนผู้เป็นคู่ความในคดีอาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลที่พิจารณาคดีนั้น ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป