รัฐบาลให้การสนับสนุนทุกศาสนา

พลโทสรรเสริญ-แก้วกำเนิด2  จากกรณีที่สื่อมวลชนหลายสำนักและโซเชี่ยลมีเดียกเผยแพร่ข่าวกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน นำโดยนายจรูญ วรรณกสิณา   ยื่นฟ้อง จุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย  ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้มีคำสั่งว่า ตราสัญลักษณ์ฮาลาลเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ให้เพิกถอนตราสัญลักษณ์ฮาลาล ออกจากสินค้าทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร โดยให้เก็บคืนสินค้าดังกล่าวออกจากตลาดทั้งหมดภายใน 3 เดือน และชดใช้ค่าเสียหาย แก่ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการเรียกเก็บเงินของผู้ถูกฟ้องคดีตลอดระยะเวลาที่กระทำความผิดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี และยังกล่าวหาว่ารัฐให้โต๊ะอิหม่ามและกรรมการมัสยิดได้เงินเดือนจากรัฐบาลเดือนละ 18,000 บาท ให้เงินอุดหนุนสร้างมัสยิด  แต่ไม่เคยสนับสนุนการสร้างวัด นั้น

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดียในทำนองว่า รัฐบาลอนุมัติงบประมาณจำนวนมาก สร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดหลายจังหวัด เช่น จ.นนทบุรี และจ.นครศรีธรรมราช พร้อมกับให้เงินเดือนโต๊ะอิหม่ามเดือนละ 18,000 บาท และคณะกรรมการมัสยิดทุกคน แต่ไม่เคยสนับสนุนการสร้างวัด โดยพยายามเชื่อมโยงให้สังคมรู้สึกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาพุทธ ว่า

“รัฐบาลมีหน้าที่อุปถัมภ์ดูแลทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน และส่งเสริมให้ศาสนิกชนทุกคนมีความรักใคร่กลมเกลียว เอื้ออาทร และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้น ข้อความที่มีการแชร์ต่อกันจึงเป็นเรื่องที่ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ จึงขอเตือนผู้ไม่หวังดีหยุดสร้างกระแสบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ส่วนพี่น้องประชาชนก็จะต้องใช้วิจารณญานในการรับข่าวสาร อย่าหลงเชื่อ และไม่ส่งต่อหรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดี โดยไม่รู้ตัว”

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายเรื่อง เช่น การสร้างมัสยิดที่ จ.นนทบุรีนั้น เป็นงบประมาณ ส่วนท้องถิ่น ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ใช่งบประมาณของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนมัสยิดที่ จ.นครศรีธรรมราช มีการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2555 โดยครม.ในขณะนั้น แต่มาแล้วเสร็จในปี 2559 ขณะที่ภาพของโรงเรียนอิสลามขนาดใหญ่บนเขายายเที่ยง แท้จริงแล้วตั้งอยู่ที่เขตลาดพร้าว กทม.

นอกจากนี้ อัตราค่าตอบแทนของโต๊ะอิหม่ามที่มีการเผยแพร่ก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน โดยระเบียบ มท.ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2552 กำหนดให้บุคคลดังกล่าวมีค่าตอบแทนระหว่าง 1,000 – 3,500 บาทต่อเดือน ไม่ใช่ 18,000 บาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง

“งบประมาณการก่อสร้างมัสยิดโดยส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค ส่วนการสร้างวัดนั้นทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้การสนับสนุนบางส่วนร่วมกับผู้มีจิตศรัทธา ขณะที่กรมการศาสนาก็มีบทบาทสนับสนุนศาสนาอื่น ๆ ด้วย เช่น คริสต์ ซิกข์ ฯลฯ ที่ส่วนใหญ่ขอรับความอนุเคราะห์ด้านการจัดกิจกรรมมากกว่าการก่อสร้างศาสนสถาน”