ไฟใต้ : หัวหน้าคณะเจรจาคนใหม่เปิดรับบีอาร์เอ็นร่วมเจรจาสันติสุขรัฐบาลไทย

ไฟใต้ ๑  ไฟใต้ ๒

 

เพียงหนึ่งเดือนหลังเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนล่าสุด พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลือกเวทีสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที เปิดตัวเขาให้สื่อมวลชนไทย เทศ นักการทูต และผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รู้จัก

พล.อ.วัลลภ ซึ่งเพิ่งเกษียณจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อสิ้น ก.ย. กล่าวถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นปัญหา “ภายในประเทศ” ที่เกิดจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือความคับข้องใจของผู้เห็นต่างจึงจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่และก่อเหตุรุนแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียหลายอย่าง รวมทั้งการพัฒนาที่ไม่ลงไปยังพื้นที่ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็พร้อมพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างทั้งในและนอกประเทศทุกกลุ่มเพื่อหาทางออก

หัวหน้าคณะพูดคุย ประกาศว่าที่ผ่านมากระบวนการพูดคุยไม่ได้หยุดชะงัก แต่มีการสื่อสารกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลและเห็นต่างอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอนและมีหลักการ โดย “รัฐบาลพร้อมพิจารณาตอบสนองข้อเสนอของผู้เห็นต่างอย่างเหมาะสม” และย้ำว่ากระบวนการพูดคุยถือเป็นวาระแห่งชาติ

แต่เมื่อสื่อมวลชนถามถึงคู่เจรจาในฝ่ายผู้เห็นต่างขณะนี้คือใครระหว่างกลุ่มมาราปาตานีและบีอาร์เอ็น หรือชื่อเต็มว่า กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional – BRN) พล.อ.วัลลภ ตอบว่ายังไม่ทราบชัดเจนว่าเป็นใคร เพราะต้องรอการประสานงานของมาเลเซีย

“เราไม่รู้ว่ามีใครเป็นแกนนำ…เราได้ประสานไปว่าเราอยากคุยกับกลุ่มแกนนำที่มีอิทธิพลในพื้นที่ทุกกลุ่มด้วยกัน เราต้องดูความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเร็ว ๆ นี้…โดยส่วนตัวก็คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง (กลุ่มผู้เห็นต่างที่เป็นคู่เจรจา) …เป็นไปได้ทุกอย่าง” พล.อ.วัลลภ พูดถึงความเป็นไปได้ที่บีอาร์เอ็นจะเป็นแกนนำในการเจรจา

ไฟใต้ ๓

นายธนากร บัวรัษฏ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สมาชิกหน้าเก่าในคณะพูดคุยฯ ฝ่ายรัฐไทย ซึ่งอยู่บนเวทีวานนี้ (29 พ.ย.) ด้วย ฝากข้อความถึงบีอาร์เอ็น “ให้มาพูดคุยกันเถิดครับ” หลังได้บทเรียนจากการเจรจาที่ผ่านมาซึ่งไม่สำเร็จ

กลุ่มบีอาร์เอ็นยังยื่นเงื่อนไข 3 ข้อหากว่ากลุ่มจะเข้ามาเจรจากับฝ่ายรัฐไทย ซึ่งได้แก่

1. การพูดคุยต้องเกิดจากความต้องการของทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งและจะต้องสมัครใจที่จะหาทางออก ร่วมกัน การพูดคุยจะต้องมีฝ่ายที่สาม (ประชาคมนานาชาติ) เป็นผู้สังเกตการณ์และสักขีพยาน

2. ผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีความน่าเชื่อถือและมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติสากล ได้แก่ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องดำเนินการพูดคุยตามกระบวนการที่คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน

3. กระบวนการเจรจานั้นต้องได้รับการออกแบบอย่างชัดเจนและได้รับความเห็นชอบจากคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายก่อนเริ่มต้น เจรจา

อย่างไรก็ดี หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ชุดใหม่ พูดถึงเรื่องนี้อย่างรวบรัดว่า ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นมีหลายเรื่อง ขณะที่ตัวกลางในการเจรจาขณะนี้ยังคงเป็นประเทศมาเลเซีย

ไฟใต้ ๔

ในการพูดคุยกับสื่อครั้งนี้ คณะพูดคุยฯ แสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ “องค์กรระหว่างประเทศได้ดูแลสอดส่องให้ข้อเสนอแนะให้ไทยอยู่แล้ว” ส่วนเรื่องกฎอัยการศึก และกฎหมายพิเศษที่ยังใช้บังคับในพื้นที่นั้นก็ยังไม่มีการยกเลิก เพราะ “กฎหมายที่ใช้อยู่ก็เพื่อป้องกันผู้บริสุทธิ์จากการกระทำรุนแรง” แต่รัฐบาลได้ใช้กฎหมายอย่างจำกัดตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากกลุ่มที่จะเข้ามาพูดคุยสันติสุขจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุยก็สามารถทำได้