ไซโคลน “ฮุดฮุด” ทำคนตายอย่างน้อย 6 ราย อินเดียเริ่มช่วยผู้ประสบภัย

  เอเอฟพี – ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เริ่มขึ้นในวันจันทร์ (13 ต.ค.) หลังจากที่มีพายุไซโคลนถล่มชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน พร้อมกับร่องรอยความเสียหายที่เหลือทิ้งไว้

เหยื่อส่วนใหญ่เสียชีวิตจากต้นไม้ที่หักโค่นลงมาทับและอาคารถล่มภายในรัฐอานธรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดจากพายุไซโคลน “ฮุดฮุด” โดยในกลุ่มผู้เสียชีวิตมีเด็กวัย 1 ขวบรวมอยู่ด้วย

พายุลูกนี้ได้จู่โจมเข้าใส่อินเดียในช่วงก่อนเที่ยงของวันอาทิตย์ (12 ต.ค.) ด้วยกระแสลมหมุนที่มีความเร็วเกือบ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่จะอ่อนกำลังลงเมื่อขึ้นฝั่งเรียบร้อยแล้ว โดยหอบเอาฝนและลมกรรโชกแรงมาสร้างความเสียหายให้กับประเทศนี้

เจ้าหน้าที่ของรัฐอานธรประเทศและของรัฐโอริสสาที่อยู่ข้างเคียง พยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการสูญเสีย ด้วยการอพยพพลเรือนราวๆ 350,000 คนก่อนที่ไซโคลนลูกนี้จะมาถึง

“รัฐบาลสามารถลดการสูญเสียชีวิตของผู้คนได้ด้วยมาตรการระวังภัย” จันทราบาบู ไนดู มุขมนตรีประจำรัฐอานธรประเทศบอกกับสำนักข่าวเพรสทรัสต์ออฟอินเดีย

ไซโคลน ฮุดฮุด ทำคนตายอย่างน้อย 6 ราย อินเดียเริ่มช่วยผู้ประสบภัย

พีเค มหาภัทร กรรมาธิการบรรเทาทุกข์ของรัฐโอริสสา บอกกับเอเอฟพีว่า รัฐของเขามีมาตรการรับมือที่ดีกว่าเดิมในคราวนี้ หลังจากที่พายุไซโคลนไพลินได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 18 รายเมื่อปีที่แล้ว

ที่เมืองวิสาขปัทนัม ซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุดจากพายุลูกนี้ หลังคาของบ้านเรือนพากันปลิวเพราะแรงลม ต้นไม้หลายร้อยต้นหักโค่นลงมา เสาไฟฟ้าล้มขวางถนน น้ำประปาและไฟฟ้าถูกตัด ขณะที่สนามบินและเส้นทางรถไฟต่างก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ทีมกู้ภัยจากกองกำลังรับมือภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เริ่มความพยายามที่จะฟื้นฟูระบบไฟฟ้าในบริเวณที่ได้รับผลกระทบแล้วในวันนี้ (13 ต.ค.) ขณะที่บรรดาผู้อพยพเริ่มทยอยออกจากที่หลบภัยเพื่อกลับบ้าน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีอินเดีย “นเรนทรา โมดี” ได้ทวีตข้อความบอกว่า เขาจะไปเยี่ยมเมืองวิสาขปัทนัมในวันอังคาร (14 ต.ค.)

ชายฝั่งตะวันออกของอินเดียและประเทศข้างเคียงอย่างบังคลาเทศ มักจะเจอกับพายุอยู่บ่อยครั้งในช่วงเดือนเมษายน – พฤศจิกายน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและมีผู้เสียชีวิตอยู่เสมอ

ที่ผ่านมามีพายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์บางลูก ได้ก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอลแล้วมุ่งเข้าสู่ชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย ซึ่งในจำนวนนั้นมีลูกหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 1970 และทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสน บริเวณที่เป็นบังคลาเทศในปัจจุบัน

เมื่อปีที่แล้ว อินเดียได้ทำการอพยพผู้คนครั้งใหญ่ ก่อนที่พายุไซโคนไพลินจะมาถึง โดยมีราวๆ 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่แถขชายฝั่งตะวันออกที่ต้องออกจากบ้านเพื่อไปหลบภัย

มหาภัทร บอกว่า ยังมีอีก 230,000 คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมในรัฐโอริสสาเมื่อคืนวันอาทิตย์ (12 ต.ค.)

“ไม่มีผู้เสียชีวิตจากพายุฮุดฮุดในรัฐโอริสสา” เขาบอกเอเอฟพี อย่างไรก็ตาม มีเด็ก 2 คนกับชาวประมงอีก 1 คนเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ (11 ต.ค.) เพราะเรือล่มในระหว่างที่กำลังอพยพ

ผู้อพยพส่วนใหญ่ทยอยกลับบ้านที่อยู่ตามชายฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชาวประมงและเกษตรกรพักอาศัยอยู่ตามกระท่อมหลังเล็ก

ไซโคลน ฮุดฮุด ทำคนตายอย่างน้อย 6 ราย อินเดียเริ่มช่วยผู้ประสบภัย