การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันนี้
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในวันนี้มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเป็นครั้งแรกต่อที่ประชุม สนช. โดยย้ำว่า ในภาคมหากษัตริย์ ไม่ได้มีการแก้ไขในสาระสำคัญแต่อย่างใด ขณะที่ในหมวดของประชาชน ได้ยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเว้น มาตรา7 ที่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง กรรมาธิการได้เพิ่มข้อความว่า การกระทำใดที่ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อป้องกันการอ้างนำมาตรา7 มาใช้ นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพของพลเมือง จะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ หรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น พร้อมกับเพิ่มสิทธิเป็น 2 ส่วนคือ สิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิความเป็นพลเมือง โดยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานของรัฐและทรัพยากรอย่างเท่าเทียม พร้อมยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หาก สนช. มีข้อเสนอแนะต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งมายังประธานอนุกรรมาธิการประสานรับฟังข้อคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ได้ เพื่อนำเสนอให้ ประธานยกร่างรัฐธรรมนูญได้ทราบต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จปลายเดือนมีนาคมนี้ และเข้าสู่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ในวันที่ 17 เม.ย. 58 โดยจะแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายใน 25 เม.ย. 58 ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ มีเวลาอีก 60 วัน ในการแก้ไข ก่อนส่งให้ สปช. 23 ก.ค. 58และจะลงมติ 6 ส.ค. 58 จากนั้นหากผ่านความเห็นชอบแล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ 4 ก.ย. 58
อย่างไรก็ตาม นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การร่างรัฐธรรมนูญควรมีบทบัญญัติให้น้อยมาตรา ส่วนรายละเอียดต่าง ๆควรออกเป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยพล.อ.เลิศรัตน์ ชี้แจงว่ากรรมาธิการยกร่างฯ ได้ยึดหลักการดังกล่าว พร้อมระบุว่า ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายการปฏิรูปต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในช่วง 3 เดือนก่อนจัดการเลือกตั้ง จะต้องจัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 15 ฉบับ
จากนั้นจึงเป็นการพิจารณาตามวาระรับทราบผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง รวมถึงพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ 7ฉบับ เช่น ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์ฎีกา , ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นผู้เสนอ และฉบับที่ประธาน ป.ป.ช. เป็นผู้เสนอ , ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น , ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….